มิตรแท้
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมิตรของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีชื่อกาฬกรรณี เรื่องมีอยู่ว่า...
ทราบว่า มิตรของท่านเศรษฐีผู้นี้ เคยเป็นสหายร่วมเล่นฝุ่นและร่วมสำนักเรียนอาจารย์คนเดียวกัน ต่อมาเขาตกทุกข์ได้ยาก จึงมาหาเศรษฐีช่วยทำกิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำได้ แต่ชื่อของเขาได้สร้างความไม่สบายใจแก่หมู่ญาติของท่านเศรษฐี พวกเขาจึงเข้าไปพบท่านเศรษฐีและขอร้องให้ส่งนายกาฬกรรณีหนีไปเสีย
ท่านเศรษฐีจึงบอกว่า " หมู่บัณฑิต มิได้ถือชื่อเป็นประมาณ เราไม่อาจอาศัยเหตุเพียงชื่อแล้วทิ้งเพื่อนผู้เล่นฝุ่นมาด้วยกันได้ "
วันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปบ้านส่วยของตน ได้มอบหมายให้นายกาฬกรรณีเป็นผู้แลรักษาเคหะสถาน (รปภ.) พวกโจรคบคิดกันว่า " เศรษฐีไม่อยู่ พวกเราจะปล้นบ้านของเขา "
ต่างพากันถืออาวุธไปล้อมเรือนของเศรษฐีไว้ในเวลากลางคืน ฝ่ายนายกาฬกรรณี ระแวงอยู่ว่าโจรจะปล้น จึงนั่งเฝ้าไม่ยอมหลับนอน ครั้นเห็นว่าพวกโจรจะมา ก็ปลุกผู้คนด้วยการให้ประโคมดนตรีเหมือนมีมหรสพโรงใหญ่ บรรเลงตลอดทั้งคืน จนรุ่งแจ้งพวกโจรไม่มีโอกาสเข้าปล้นจึงทิ้งอาวุธไว้แล้วหลบหนีไป
รุ่งขึ้น ผู้คนเห็นก้อนดินและไม้พลองเป็นต้น จึงได้ทราบเหตุการณ์ ต่างพากันยอมรับในความสามารถของนายกาฬกรรณี พอเศรษฐีกลับมาก็บอกเรื่องนั้นให้ฟังทุกประการ
เศรษฐีได้ทีจึงพูดว่า " เห็นไหม ถ้าเราไล่เพื่อนของเราตามคำของพวกท่าน ทรัพย์สินของเราคงสูญสิ้นไปมิใช่น้อยในวันนี้ ธรรมดาชื่อไม่เป็นประมาณ จิตที่เกื้อกูลเท่านั้นเป็นประมาณ "
แล้วให้ทุนทรัพย์แก่มิตรเพิ่มขึ้นอีก ได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า
" บุคคลชื่อว่าเป็นมิตร ด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหาย ด้วยการเดินร่วมกัน
๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติ ด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่งหรือครึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่า
มีตนเสมอกัน ก็ด้วยการอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตรชื่อว่ากาฬกัณณี
ผู้ชอบพอกันมานาน เพราะความสุขส่วนตัวได้อย่างไร "
" บุคคลชื่อว่าเป็นมิตร ด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหาย ด้วยการเดินร่วมกัน
๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติ ด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่งหรือครึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่า
มีตนเสมอกัน ก็ด้วยการอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตรชื่อว่ากาฬกัณณี
ผู้ชอบพอกันมานาน เพราะความสุขส่วนตัวได้อย่างไร "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
คบคนอย่าคบเพียงชื่อ จิตใจสำคัญที่สุด
อ้างอิง