วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

สีลานิสังสชาดก>>>อานิสงส์ของศีล

อานิสงส์ของศีล


       ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภอุบาสกผู้มีศรัทธาคนหนึ่งที่สามารถเดินข้ามแม่น้ำอจิรวดีไปฟังธรรมได้ด้วยอำนาจคุณของศีล ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ ในวันหนึ่งมีอุบาสกคนหนึ่งซึ่งเป็นพระโสดาบัน ได้โดยสารเรือไปค้าขายต่างเมืองกับช่างตัดผมคนหนึ่ง ก่อนออกเดินทาง ภรรยาของช่างตัดผมได้ฝากให้อุบาสกช่วยดูแลสามีของตนพร้อมกับสั่งว่า
      "ท่านเจ้าค่ะ ขอท่านได้ช่วยดูแลสามีดิฉันด้วยนะคะ สุขทุกข์ของสามี ดิฉันขอมอบให้เป็นภาระของท่านก็แล้วกัน"
เรือออกเดินทางไปได้ ๗ วัน ก็เจอพายุกระหน่ำจนเรืออับปางลงกับทะเลราวกับเรือไทนานิคล่ม ชายทั้ง ๒ ได้เกาะแผ่นกระดานแผ่นหนึ่งลอยคอจนมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ด้วยความหิวนายช่างตัดผมได้ฆ่านกปิ้งกินและชวนอุบาสกกินด้วยกัน แต่อุบาสกไม่กินเพราะคิดว่า "สถานการณ์เช่นนี้ มีแต่พระรัตนตรัยเท่านั้นจะเป็นที่พึ่งเราได้" จึงนั่งระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่
ขณะนั้นพญานาคผู้บนเกาะนั้นได้เนรมิตร่างเป็นเรือลำใหญ่ มีเทวดาประจำทะเลเป็นต้นเรือ บรรทุกทรัพย์สินเงินทองเต็มลำ มีเสากระโดงทำด้วยแก้วมณีสีอินทนิล ใบเรือทำด้วยทองเชือกทำด้วยเงิน แล่นมาที่เกาะนั้น พร้อมประกาศว่า
      "มีใครจะไปด้วยไหม"
       อุบาสกร้องตอบว่า "ข้าพเจ้าจะไปด้วย"
       นายต้นเรือพูดว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านขึ้นมาเถอะครับ"
       อุบาสกจึงชวนนายช่างตัดผมขึ้นเรือไปด้วยกัน แต่นายต้นเรือร้องห้ามไว้ว่า "ขึ้นมาได้เฉพาะท่านคนเดียวเท่านั้น อีกคนหนึ่งขึ้นไม่ได้"
       อุบาสกถามว่า "ทำไมละท่าน"
       นายต้นเรือตอบว่า "เพราะคนนั้นไม่มีศีลจึงรับไปด้วยไม่ได้ เรือลำนี้รับเฉพาะคนมีศีลเท่านั้น"
       อุบาสกพูดว่า "เอาเถอะ ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอแบ่งให้ส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้รักษาศีลให้แก่เขาก็แล้วกัน"
       นายช่างตัดผมก็รับคำอนุโมทนาในบุญกุศลว่า "ข้าพเจ้าขออนุโมทนา"
เทวดาจึงนำชายทั้ง ๒ ขึ้นเรือแล้วนำไปส่งจนถึงฝั่งพร้อมทั้งมอบทรัพย์สมบัติให้อีกด้วย แล้วกล่าวให้โอวาทเป็นคาถาว่า
       "ดูเถิด นี่แหละผลของศรัทธา ศีล และจาคะ พญานาคแปลงตนเป็นเรือนำอุบาสกผู้มีศรัทธาไป บุคคลพึงคบหาสัตบุรุษเท่านั้น พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษนายช่างตัดผมจึงถึงความสวัสดี"
       เมื่อกล่าวจบก็พาพญานาคกลับวิมานของตนไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
ผู้มีศีลตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

อ้างอิง

คหปติชาดก>>>ผู้ใหญ่บ้านทวงหนี้ไม่ถูกเวลา

ผู้ใหญ่บ้านทวงหนี้ไม่ถูกเวลา


       ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันอยากสึกรูปหนึ่ง ตรัสให้โอวาทว่า "ภิกษุ..ขึ้นชื่อว่ามาตุคามดูแลไม่ไหว ทำความชั่วแล้วยังลวงสามีด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งอีก" แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคหบดีในแคว้นกาสี มีภรรยาผู้ทุศีลคนหนึ่งชอบคบชู้กับผู้ใหญ่บ้านเป็นประจำ พระโพธิสัตว์ก็พอทราบระแคะระคายอยู่บ้างจึงเฝ้าสืบดูอยู่
ในฤดูทำนาของปีหนึ่ง หลังจากดำนาเสร็จแล้ว ข้าวยังไม่ทันตั้งท้อง ก็เกิดฝนแล้งขึ้น ชาวบ้านเดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้านเพราะไม่มีอาหารจะกิน จึงได้ตกลงกันซื้อวัวของผู้ใหญ่บ้านตัวหนึ่งเพื่อนำมาฆ่าแบ่งเนื้อปันกัน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วถึงจะนำข้าวเปลือกมอบให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นค่าเนื้อในอีกสองเดือนข้างหน้า
       อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระโพธิสัตว์ออกไปนา ผู้ใหญ่บ้านได้แอบย่องเข้าไปหาภรรยาของพระโพธิสัตว์ที่บ้าน ในขณะที่ทั้งคู่กำลังนอนด้วยกันอย่างมีความสุขอยู่นั้น พระโพธิสัตว์กลับมาถึงบ้านพอดีได้เห็นเหตุการณ์นั้นจึงยืนดูอยู่ที่ประตูบ้าน ฝ่ายภรรยาพอเห็นสามีกลับมาในขณะนั้นจึงรีบบอกอุบายแก่ผู้ใหญ่บ้านว่า "ท่านจงทำเป็นมาร้องทวงหนี้เนื้อวัวนะ ฉันจะขึ้นไปบนยุ้งข้าวตอบท่านว่าข้าวเปลือกไม่มี ท่านก็จงพูดทวงหนี้นั้นไปเรื่อย ๆ"
       ผู้ใหญ่บ้านก็ทำใจดีสู้เสือเดินออกไปยืนกลางเรือนแล้วร้องเรียกว่า "น้องหญิงอยู่ไหม ฉันมาทวงหนี้ค่าเนื้อวัวนะ" ฝ่ายภรรยาที่รีบปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนยุ้งข้าวแล้วก็ร้องตอบมาว่า "ข้าวเปลือกยังไม่มีหรอกพี่ผู้ใหญ่ เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเราจะนำไปให้ดอกนะ กลับไปก่อนเถอะจ้า"
       พระโพธิสัตว์เดินเข้าไปในบ้านเห็นเขาพูดโต้ตอบกัน ก็ทราบว่าเป็นอุบายของภรรยา จึงเรียกผู้ใหญ่บ้านพูดว่า "ท่านผู้ใหญ่..เราสัญญากันไว้ ๒ เดือนมิใช่หรือ นี่ยังไม่ถึงครึ่งเดือนด้วยซ้ำไป ท่านมาทวงหนี้ทำไมเวลานี้ ท่านมาเพราะเรื่องอื่นกระมัง ผมไม่ชอบใจเลยนะ นางนั้นก็เหลือร้ายรู้ทั้งรู้อยู่ว่าในยุ้งข้าวไม่มีข้าวเปลือกก็ยังร้องบอกอยู่นั่นแหละ ผมไม่พอใจพฤติกรรมของพวกท่านเลยนะ" แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
       "กรรมทั้ง ๒ ไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ก็หญิงคนนี้ลงไปในยุ้งข้าวแล้วพูดว่าเรายังใช้หนี้ให้ไม่ได้ท่านผู้ใหญ่บ้าน เพราะเหตุนี้เราจึงพูดกะท่าน ท่านได้ทำสัญญากำหนดไว้ ๒ เดือน แล้วมาทวงเนื้อวัวผอมแก่เมืองยังไม่ถึงกำหนดเวลาสัญญา กรรมทั้ง ๒ นั้น ฉันไม่ชอบใจเลย"
       เมื่อพูดจบแล้วก็จิกผมผู้ใหญ่บ้านกระชากให้ล้มลงกลางเรือน แล้วพูดสอนว่า "ท่านทำร้ายคนอื่นเพราะถือว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือ" ทุบตีจนผู้ใหญ่บ้านบอบช้ำแล้วก็ไล่ไสหัวไป หันไปคว้าผมภรรยามาพูดขู่ว่า "นางตัวดี ถ้าเธอไม่เลิกพฤติกรรมเช่นนี้อีกจะเห็นดีกัน" ตั้งแต่วันนั้นมาผู้ใหญ่บ้านไม่กล้าแม้แต่จะเดินผ่านหน้าบ้านหลังนั้นอีกเลย ภรรยา ของพระโพธิสัตว์ก็ได้เลิกพฤติกรรมเช่นนั้นไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
เมื่อภัยไม่มาถึงตัวคนก็มักเห็นสิ่งที่ตนกระทำผิด ถูกอยู่เสมอ

อ้างอิง
http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt223.php

พันธนาคารชาดก>>>เรือนจำที่แท้จริง

เรือนจำที่แท้จริง


       ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภเรือนจำสำหรับคุมขังผู้คน ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายเครื่องจองจำเหล่านั้นไม่นับว่าเป็นเรือนจำที่แท้จริง ส่วนเครื่องผูกคือกิเลสตัณหาในทรัพย์สมบัติ บุตรและภรรยา ถือเป็นเรือนจำที่แท้จริง มั่นคงยิ่งกว่า ตัดได้ยากกว่า โบราณบัณฑิตได้ตัดเรือนจำนี้ได้แล้วออกบวช" แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกชายโทนของตระกูลคหบดีเก่าแก่ แต่ยากจนตระกูลหนึ่ง พอบิดาเสียชีวิตแล้วเขาก็ได้ออกรับจ้างหาเลี้ยงมารดา อยู่ต่อมาพอเขาแต่งงานแล้วมารดาก็เสียชีวิตไปอีกคน ใจจริงแล้วเขาไม่อยากจะแต่งงานอยากบวชมากกว่า เพราะมองเห็นความลำบากของตนเอง แต่ก็ต้องแต่งงานตามใจมารดาเท่านั้น
       ต่อมาไม่นาน ภรรยาของเขาตั้งครรภ์ เขาไม่รู้ว่านางตั้งครรภ์จึงพูดกับนางในวันหนึ่งว่า "นี่น้อง เธอจงดูแลตัวเองนะ พี่จะไปบวชละ" ภรรยาบอกว่า "พี่..ฉันท้องแล้วนะ เมื่อฉันคลอดลูกแล้วพี่ค่อยบวชเถิด" เขาจึงอยู่ต่อจนนางคลอดลูกแล้วจึงพูดอำลานางอีกว่า "น้อง..พี่จะออกบวชแล้วนะ ขอให้เธอดูแลลูกน้อยนะ" นางขอร้องว่า "พี่..ขอให้ลูกหย่านมก่อนเถอะ พี่ค่อยไป"
       ต่อมาอีกสองสามเดือนภรรยาก็ตั้งครรภ์อีก เขาคิดว่า "ถ้าขืนเรามัวแต่อำลานางอยู่เช่นนี้ก็คงจะไม่ได้บวชหรอก เราต้องหนีไปบวชในคืนนี้ละ" พอถึงเวลาเที่ยงคืนก็แอบหนีออกจากบ้านไปบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่ง
วันหนึ่ง ฤาษีนั้นขณะนั่งบำเพ็ญเพียรได้รำลึกถึงชีวิตของตนเอง จึงเปล่งอุทานเป็นคาถาว่า
     "นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้องว่าเป็นเครื่องผูกที่มั่นคง ส่วนความกำหนัดยินดีในแก้วมณีและต่างหูก็ดี ความห่วงใยในบุตรและภรรยาก็ดี, นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นว่าเป็นเครืองผูกที่มั่นคง ทำให้สัตว์ตกต่ำ ย่อหย่อนแก้ได้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกนั้นได้ขาด หมดความห่วงใย ละกามสุข หลีกออกไปได้"
ฤาษีบำเพ็ญเพียรอยู่เช่นนี้จนสิ้นชีวิตไปเกิดที่พรหมโลกในที่สุด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
เรือนจำ(เครื่องผูก) ที่แท้จริงของมนุษย์คือ ลูก ภรรยา สามี และทรัพย์สินศฤงคาร

อ้างอิง


สุงสุมารชาดก>>>ลิงเจ้าปัญญา

ลิงเจ้าปัญญา


        ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้พยายามปลงพระชนม์พระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาลิงมีรูปร่างใหญ่โตสวยงาม มีพละกำลังเท่าช้าง อาศัยอยู่ที่ราวป่า คุ้งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในแม่น้ำนั้นมีจระเข้สองผัวเมียอาศัยอยู่ วันหนึ่ง จระเข้ตัวเมียเห็นร่างกายของพญาลิงแล้วเกิดแพ้ท้องอยากกินหัวใจลิงตัวนั้น
      "พี่ช่วยนำมันมาให้น้องหน่อยนะจ๊ะ"
       สามีพูดว่า "น้องจ๋าเราเป็นสัตว์ในน้ำ ลิงเป็นสัตว์บนบก พี่จะจับลิงได้อย่างไรละจ๊ะ"
       เมียพูดด้วยความน้อยในว่า "พี่ต้องหาวิธีจับมันมาให้ได้ มิเช่นนั้นน้องขอตายดีกว่า"
       สามีจึงพูดปลอบใจว่า "น้องจ๋า อย่าเพิ่งตายเลยจ๊ะ พี่จะไปจับมันมาเดี๋ยวนี้ละจ๊ะ"
ว่าแล้วก็ไปหาพญาลิงที่กำลังลงมาดื่มน้ำที่ฝั่งพอดี ร้องถามขึ้นว่า "ท่านลิง ท่านกินแต่กล้วยที่ฝั่งนี้ไม่เบื่อรึไง ไม่คิดอยากจะข้ามไปกินผลไม้ฝั่งโน้นบ้างหรือ"
      ลิงตอบว่า "ท่านจระเข้ แม่น้ำนี้กว้างใหญ่ไพศาล เราจะข้ามไปได้อย่างไร"
      จระเข้ ได้ทีจึงเสนอตัวว่า "ถ้าท่านจะไปจริง ๆ ก็ขึ้นบนหลังของเราไปก็ได้ เราอาสาจะไปส่ง"
      ลิงเชื่อคำพูดของมันจึงได้กระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ไป
      จระเข้พอพาลิงไปถึงกลางแม่น้ำก็มุดลงดำน้ำ ลิงร้องถามว่า "ท่านแกล้งเรา จะให้เราจมน้ำตายรึไง"
      จระเข้ตอบว่า "เรามิได้คิดอาสาจะพาท่านไปฝั่งโน้นจริง ๆ หรอก เมียเราแพ้ท้องอยากกินหัวใจท่าน เราจะพาท่านไปให้เมียเรากินต่างหาก"
      ลิงพูดขึ้นด้วยเล่ห์ว่า "เพื่อนเอ๋ย ท่านบอกมาก็ดีแล้ว หากหัวใจอยู่ในท้องเราเมื่อกระโดดไปมาบนต้นไม้ หัวใจเราก็แหลกหมดนะสิ หัวใจไม่ได้อยู่กับเรา"
      จระเข้หลงกลถามไปว่า "แล้วท่านเอาหัวใจไปไว้ที่ไหนละ"
      ลิงจึงชี้ไปที่ต้นมะเดื่อต้นหนึ่งที่ไม่ไกลนักมีผลสุกเป็นพวงอยู่ พร้อมกับพูดว่า "นั่นไง หัวใจของเราแขวนอยู่ที่ต้นมะเดื่อนั่นไง"
      จระเข้พูดว่า "หากท่านให้หัวใจแก่เรา เราจะไม่ฆ่าท่าน"
      ลิงพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นท่านพาเราไปที่นั้นสิ เราจะให้หัวใจแก่ท่าน"
จระเข้จึงพาลิงไปส่งที่ต้นมะเดื่อนั้น ลิงกระโดดขึ้นต้นมะเดื่อไปแล้ว พร้อมกับพูดว่า
      "เจ้าจระเข้หน้าโง่ หัวใจสัตว์ตัวไหนจะอยู่บนยอดไม้ เจ้าใหญ่แต่ตัวเสียเปล่า หามีปัญญาไม่" แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
      "เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้า และผลขนุนที่ท่านเห็นฝั่งสมุทรโน้น ผลมะเดื่อของเราต้นนี้ดีกว่าร่างกายของท่านใหญ่โตเสียเปล่าแต่ปัญญาไม่สมกับร่างกายเลย จระเข้..ถูกเราลวงแล้วนัดนี้เจ้าจงไปตามสบายเถิด"
จระเข้พอทราบว่าหลงกลลิงแล้วก็เป็นทุกข์เสียใจซึมเซาเหมือนกับเสียพนัน มุดกลับยังถิ่นที่อยู่ของตนตามเดิม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด รู้จักใช้ปัญญาเอาชีวิตรอดมาได้เป็นยอดดี

อ้างอิง


กันทคลกชาดก>>>นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น


นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น




      ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระเทวทัตผู้เลียนแบบอย่างพระองค์แล้วถึงความพินาศ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
      กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกหัวขวานชื่อขทิรวนิยะ เที่ยวหากินอาหารอยู่ในป่าไม้ตะเคียนแห่งหนึ่ง มีเพื่อนนกหัวขวานตัวหนึ่งชื่อกันทคลกะ เที่ยวหากินอาหารอยู่ในป่าไม้ทองหลางแห่งหนึ่ง
      ในวันหนึ่ง นกกันทคลกะมาหานกขทิรวนิยะที่ป่าไม้ตะเคียน นกขทิรวนิยะดีใจที่เพื่อนมาเยี่ยมจึงพาเพื่อนไปที่ต้นตะเคียนต้นหนึ่ง ใช้จะงอยปากเคาะต้นตะเคียนคาบตัวหนอนให้พื่อนกินอย่างอร่อยนกกันทคลกะเห็นเพื่อนส่งอาหารมาให้กิน ก็คิดอยากจะลองหากินแบบเพื่อนดูบ้างจึงพูดขึ้นว่า
      "สหาย อย่าได้ลำบากเลย เราจะหากินในป่าตะเรียนด้วยตัวของเราเอง"
      นกขทิรวนิยะพูดห้ามว่า "สหาย ท่านเคยหากินอยู่แต่ในเขตป่าไม้ไม่มีแก่น ไม้ตะเคียนเป็นไม้มีแก่น ท่านจะไหวหรือ ?"
      นกกันทคลกะพูดว่า "เราก็นกหัวขวานเหมือนกันกับท่านนี่"
      ว่าแล้วก็ผลุนผันไปเอาจะงอยปากเคาะต้นตะเคียนต้นหนึ่งสุดแรงเกิด ดัง "ป๊อก ๆ ๆ" ทันใดนั่นเองจะงอยปากของมันได้หักทันทีตาทะลักออก หัวแตกตกจากต้นไม้ลงพื้นดิน นอนดิ้นไปมาได้ร้องถามก่อนสิ้นใจว่า
      "สหาย ต้นไม้ที่มีใบละเอียด มีหนามนี้เป็นต้นอะไร เราเจาะเพียงครั้งเดียว ทำให้สมองไหลหัวแตกเสียแล้ว
นกขิทรวนิยะได้ร้องตอบเป็นคาถาว่า
      "นกกันทคลกะ เมื่อเจาะหมู่ไม้ในป่าได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบต้นตะเคียนซึ่งมีแก่นโดยธรรมชาติ ได้ทำลายกระหม่อมที่ต้นตะเคียนนั้นแล้ว"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
อย่าอวดเก่งในสิ่งที่ตนเองไม่ชำนาญ

วิโรจนชาดก>>>สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ



สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ



       ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้แสดงท่าทางอย่างพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง ออกจากถ้ำทอง ไปหาอาหาร ได้กระบือใหญ่ ตัวหนึ่ง กินเนื้อแล้ว ไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในขณะที่เดินกลับถ้ำ ได้พบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งในระหว่างทาง สุนัขจิ้งจอกจึงขออาสาเป็นผู้รับใช้ราชสีห์ด้วยความกลัวตาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุนัขจิ้งจอกก็ได้กินเนื้อเดนราชสีห์อย่างอิ่มหนำสำราญ มันมีหน้าที่ขึ้นยอดเขาไปดูสัตว์ที่จะเป็นอาหาร แล้วกลับลงมาบอกพระยาราชสีห์ว่า " ข้าพเจ้า อยากกินเนื้ออย่างโน้น นายท่าน จงแผดเสียงเถิด " พระยาราชสีห์ก็จะไปจับสัตว์ตัวนั้นมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อนานาชนิดหรือแม้กระทั่งช้าง
       ครั้นเวลาผ่านไปหลายปี สุนัขจิ้งจอก ชักกำเริบเกิดความคิดว่า " แม้ตัวเรา ก็เป็นสัตว์ มี ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุใด จะให้ผู้อื่นเลี้ยงอยู่ทุกวันเล่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะฆ่าช้างเป็นอาหารกินเนื้อเอง แม้แต่ ราชสีห์ก็เพราะอาศัยเราบอกว่านายขอรับ เชิญท่านแผดเสียงเถิด เท่านั้น ก็จึงฆ่าสัตว์ต่างๆได้ ต่อแต่นี้ เราจะให้ราชสีห์พูดกับเราบ้าง " ได้เข้าไปหาราชสีห์แล้วบอกเรื่องนั้น
       แม้ถูกพระยาราชสีห์พูดเยาะเย้ยว่า " เป็นไปไม่ได้ " ก็ตามคงเซ้าซี้อยู่นั่นเอง พระราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามมันได้ ก็รับคำให้สุนัขจิ้งจอกนอนในที่นอนของตน แล้วไปคอยดูช้างตกมันที่เชิงเขาพบแล้ว ก็กลับเข้ามาบอกสุนัขจิ้งจอกว่า " จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด "
       สุนัขจิ้งจอก ออกจากถ้ำทอง สลัดกาย มองทิศทั้ง ๔ หอนขึ้นสามคาบ วิ่งกระโดดเข้างับช้างหวังที่ก้านคอช้าง กลับพลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างจึงยกเท้าขวาขึ้นไปเหยียบหัวจิ้งจอก จนหัวกะโหลกแตกเป็นจุน แล้วเอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้แล้วเยี่ยวรดข้างบน ร้องกัมปนาทเข้าป่าไป พญาราชสีห์เห็นเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
     " มันสมองของเจ้าทะลักออกมา กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย
       ซี่โครงของเจ้า ก็หักหมดแล้ว วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
อย่าคิดทำอะไร เกินกำลังความสามารถของตัวเอง

อ้างอิง